“จุฬาฯ–การบินไทย: ความรู้คู่ฟ้า Chula–TG: Be the Star in the Sky of Knowledge” ความร่วมมือเพื่อสังคมที่ยั่งยืน

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จัดแถลงข่าวความร่วมมือทางวิชาการ ภายใต้ชื่อ “จุฬาฯ–การบินไทย: ความรู้คู่ฟ้า Chula–TG: Be the Star in the Sky of Knowledge” เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 ณ เรือนจุฬานฤมิต

ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ และ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมปาฐกถาพิเศษ นอกจากนี้ยังมี นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), นางจันทริกา โชติกเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่สายทรัพยากรบุคคล บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ รศ.ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ รองอธิการบดีจุฬาฯ, โดยมี อ.ดร.ถิรพุทธิ์ ปิติฉัตร ผู้ช่วยอธิการบดีจุฬาฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ความร่วมมือระหว่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ภายใต้โครงการ “ความรู้คู่ฟ้า Chula–TG: Be the Star in the Sky of Knowledge” ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง “ระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้” ที่ก้าวข้ามพรมแดนระหว่างภาคการศึกษาและภาคธุรกิจ โดยมีแนวคิดที่สำคัญดังนี้…

ปลุกพลังภาวะผู้นำผ่าน “Series of the President”
รายการสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงของการบินไทยจะถ่ายทอดแนวคิด วิสัยทัศน์ และบทเรียนจากประสบการณ์จริง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับบุคลากรในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นราชการ เอกชน หรือนิสิตนักศึกษา เสริมสร้างองค์ความรู้ด้านภาวะผู้นำและการบริหารในโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว

สร้างโรงเรียนแห่งการบริการ (School of Hospitality)
ร่วมพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยเน้นจิตวิทยาบริการ การสื่อสารข้ามวัฒนธรรม และการเข้าใจผู้บริโภคยุคดิจิทัล เพื่อยกระดับมาตรฐานบุคลากรสู่ระดับนานาชาติ

เปลี่ยนห้องโดยสารให้เป็นห้องเรียนกลางอากาศ
ด้วยแนวคิด Edutainment บนเที่ยวบิน ผู้โดยสารจะสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ผ่านสื่อมัลติมีเดียคุณภาพสูง เช่น วิดีโอจากคณาจารย์ และกรณีศึกษาจริงจากการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย เนื้อหาจะเน้นให้ความรู้ควบคู่กับความเพลิดเพลิน สะท้อนบทเรียนด้านบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ที่นำไปปรับใช้ได้จริงในหลากหลายบริบท

ยกระดับทักษะคนไทยด้วย “1 Staff 1 Certificate”
เปิดโอกาสให้พนักงานการบินไทยทุกระดับได้อบรมหลักสูตรระยะสั้นจากจุฬาฯ โดยเนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่การบริหาร การตลาดดิจิทัล ภาษาอังกฤษ จนถึงการคิดเชิงออกแบบ พร้อมรับประกาศนียบัตรรับรองคุณวุฒิ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในระดับบุคคลและองค์กร

ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวระหว่างงานแถลงข่าวว่า “จุฬาฯ มองว่าความรู้ไม่ควรถูกเก็บไว้แค่ในห้องเรียนหรือห้องทดลอง แต่ต้องออกไปมีบทบาทจริงในสังคมและภาคอุตสาหกรรม การจับมือกับการบินไทยในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้ในระดับประเทศ”

“จุฬาฯ–การบินไทย: ความรู้คู่ฟ้า” ไม่ใช่เพียงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับบริษัทเอกชน แต่เป็นโมเดลแห่งอนาคตที่แสดงให้เห็นว่า ความรู้สามารถเป็นพลังในการขับเคลื่อนธุรกิจ พัฒนาแรงงาน และสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศได้อย่างแท้จริง

RELATED STORIES

LATEST

MOST POPULAR

Scroll to Top